แสดงรายละเอียดข่าว : การออกแบบภูมิทัศน์กับงานทางด้านผังเมือง
กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์

ข่าวทั้งหมด

พิมพ์หน้านี้

ปิดหน้านี้
   ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป หัวข้อข่าว : การออกแบบภูมิทัศน์กับงานทางด้านผังเมือง


เนื้อหาข่าว :   

 การออกแบบภูมิทัศน์กับงานทางด้านผังเมือง

 
หากจะกล่าวถึงหลักทั่วไปในการออกแบบทางด้านภูมิทัศน์ (Landscape Design) เช่น การออกแบบจัดสวน การออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนสาธารณะ วัด หรือพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ผู้ออกแบบจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆทางด้านกายภาพ (Physical Data) เช่น สภาพของที่ดิน การระบายน้ำ ความสูง-ต่ำของพื้นที่ รวมทั้งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ศึกษาถึงสภาพพรรณไม้ในพื้นที่ทั้งภายในและรอบนอกสวน ตลอดจนศึกษาความต้องการในการเข้ามาใช้พื้นที่ของประชาชน ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้มาใช้บริการในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ผู้ออกแบบสามารถกำหนดรูปแบบ (Style) แนวความคิด (Conceptual Plan) ในการออกแบบปรับปรุงสวนสาธารณะได้อย่างรอบคอบ เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของพื้นที่และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะทำให้สามารถกำหนดสัดส่วนการใช้พื้นที่ในสวนได้เหมาะสมตามประโยชน์ใช้สอย (Function) ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ การจะกำหนดให้บริเวณใดจะเป็นที่ทิ้งขยะรวม บริเวณใดจะเป็นที่ตั้งของห้องน้ำ ก็ควรศึกษาถึงทิศทางของลม เพราะหากให้ที่ทิ้งขยะหรือห้องน้ำอยู่เหนือลมก็จะเกิดกลิ่นเหม็นต่อพื้นที่ส่วนอื่นๆของสวนได้ บริเวณใดควรกำหนดให้ปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงา บริเวณใดเป็นที่โล่ง บริเวณใดควรจะเป็นพื้นที่นันทนาการ พื้นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ สถาปนิกผู้ออกแบบก็จะต้องจัดระบบเส้นทางสัญจร ทางเดินเท้า ให้สัมพันธ์กับการใช้สอยพื้นที่ด้วย
 
นอกจากนี้อาจจะต้องสงวนพื้นที่บางส่วนไว้หากต้องการมีกิจกรรมพิเศษ เช่น การจัดนิทรรศการ เป็นต้น และสามารถกำหนดรายละเอียด จังหวะในการวางตำแหน่งต้นไม้ขนาดต่างๆ และตำแหน่งของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนส่วนประกอบหรือของประดับสวนได้อย่างลงตัว เพื่อให้เกิดมุมมองหรือภูมิทัศน์ที่เหมาะสมสวยงาม การกำหนดให้มีระยะห่าง ความสูงต่ำของอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือความสูงของต้นไม้ ขนาด ทรงพุ่ม มีประโยชน์มากในการเน้นพื้นที่ในบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม ก็ไม่ควรมีต้นไม้ใหญ่หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีความสูงมาบดบังทัศนียภาพ ในทางตรงข้าม พื้นที่บริเวณใดที่มีสภาพไม่น่าดู ก็สามารถที่จะใช้ต้นไม้ใหญ่ หรือมีทรงพุ่มหนาปลูกไว้เพื่อปิดบังทัศนียภาพที่ไม่ต้องการให้เห็นได้ และที่สำคัญควรคำนึงถึงความสะดวก สะอาด เป็นระเบียบและมีความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการด้วย ทั้งนี้ผู้ออกแบบจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบผังบริเวณ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการปรับปรุงสวนสาธารณะได้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และที่ควรพิจารณาก็คือ จะต้องมีระบบการจัดการตรวจสอบ ดูแล รักษา ซ่อมแซมในพื้นที่สวนสาธารณะด้วย ต้องมีระบบการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนต่างๆของสวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่มีข้อผิดพลาดหรือควรปรับปรุงต่อไป
 
ในทำนองเดียวกัน การวางผังเมืองก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการออกแบบทางด้านภูมิสถาปัตย์ ผู้วางผังจำเป็นต้องศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งข้อมูลทางกายภาพ เช่น สภาพภูมิประเทศ ข้อมูลทางด้านธรณีสัญฐาน (Geomorphology) ข้อมูลทางธรณีวิทยา (Geology) ความลาดชัน (Slope) ทิศทางการไหลของน้ำ ทิศทางลม เป็นต้น และต้องศึกษาข้อมูลทางด้านสังคม (Spatial data) เช่น ข้อมูลประชากร เศรษฐกิจ สังคม บทบาทของเมือง นโยบายของรัฐ เพื่อที่จะสามารถ กำหนดทิศทางการเจริญเติบโตของเมือง การกำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การกำหนดย่านการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) ในเมืองให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ พื้นที่บริเวณใดของเมืองควรสงวน หรืออนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นปอดของเมือง พื้นที่บริเวณใดควรส่งเสริมให้มีการพัฒนา บริเวณใดให้มีตึกสูงได้ บริเวณใดไม่ควรมีตึกสูง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย สภาพแวดล้อม และการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีการวางระบบการคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการจัดเตรียมสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม และมีความปลอดภัย ผู้วางผังก็จำเป็นที่จะต้องมีการวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังการคมนาคมขนส่ง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง และจะต้องมีมาตรการในการปฏิบัติ ควบคุมให้เป็นไปตามผังที่ได้วางไว้ เมืองใดสามารถจัดสรรพื้นที่ให้มีสัดส่วนลงตัว เหมาะสม สวยงาม เมืองนั้นก็จะมีภูมิทัศน์ของเมืองดีตามไปด้วย เช่นเดียวกับการออกแบบจัดสวน หรือการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนสาธารณะ
 
นอกจากนี้จะต้องมีระบบการติดตามประเมินผลของผัง ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชาชน การเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเป็นอย่างไร เพื่อที่ผู้วางผังจะสามารถนำมาปรับปรุงการวางผังให้ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมือง ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป
 

บทความโดย นายสุรเชษฐ์ ศรีใคร นักผังเมือง 7 ว ฝ่ายผังเมืองและวิชาการ กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์

 




ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ : คลิ๊กที่นี่ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ

วันที่ประกาศข่าว : 18 มีนาคม 2557 10:26:27
อัพเดทข่าวล่าสุด : 2 พฤษภาคม 2557 10:10:04