สถานที่ : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ การทอผ้าไหมแพรวา บ้านโพน

       ชาวอีสานถือว่า "ผ้าไหม" เป็นของมีค่า เป็นความภูมิใจของเจ้าของที่ได้ใช้และบ่งบอกถึงชาติตระกูล ฐานะเศรษฐกิจ ฯลฯ ของเจ้าของเนื่องจากชาวอีสานเลี้ยงตัวไหมแทบทุกหลังคาเรือนเพียงพอใช้เล็กๆ น้อยๆ ต่างจากการปลูกฝ้ายที่ปลูกเป็นจำนวนมาก 
        ผ้าไหมแพรวาได้รับการกล่าวขานว่า “แพรวา ราชินีแห่งไหม” แพรวาหรือผ้าแพรวาเป็นผ้าทอมือ ผ้าพื้นเมืองหัตถกรรมพื้นบ้านอันมีสีสัน ลวดลายที่หลากหลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นิยมทอด้วยไหมทั้งผืนนับเป็นผ้าไทยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ได้นับความนิยมสูงในหมู่ผู้นิยมผ้าไทย ทั้งที่อยู่ภายในประเทศและต่างประเทศ โดยปกติ หญิงสาวชาวภูไททอผ้าแพรวาไว้สำหรับห่มเป็นสไบคลุมไหล่ หรือโพกศีรษะจึงมักใช้ในโอกาสที่เป็นงานบุญ งานมงคล หรืองานประเพณีต่างๆ 
        ผ้าแพรวา  เป็นผ้าที่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์  ดูได้จากวัสดุที่ใช้เป็นเส้นไหม
มีลวดลายที่หลากสีสันและมีขนาดกว้างไม่เกิน 36 นิ้ว ผ้าแพรวาตามรูปศัพท์จำแนกออกเป็น "แพร" หรือ "แพ" (ภาษาอีสาน) หมายถึง ผ้าที่ยังไม่ได้แปรรูปให้เป็นเสื้อ  "วา" หมายถึง มาตรวัดความยาวอย่างหนึ่งได้จากการกางช่วงแขนออกไปจนสุดเรียกว่า 1วา ดังนั้น "ผ้าแพรวา" จึงมีความหมายรวมกันว่า"ผ้าทอผืนที่มีความยาว 1วา หรือ 1ช่วงแขน"
============================================
ลักษณะเด่น  ที่ปรากฏชัดเจนแตกต่างจากผ้าทอชนิดอื่น มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักของคนในวงการคือ
       1. ทอด้วยเส้นไหมทั้งด้ายยืนและด้ายพุ่ง
       2. หน้าแคบ 2 ศอก ความยาว 2 วา 
       3. ประกอบด้วยลวดลายต่างๆ ทรงเรขาคณิตเป็นจำนวนมากในผืนเดียว กัน
       4. โดยทั่วไปประกอบด้วยลายหลัก ลายคั่น และลายช่อปลายเชิงสลับกันไปเรื่อยๆ จนจบ
       5. ใช้เส้นไหมหลากสีสอดสลับกันในลวดลาย
       6. เอกลักษณ์ดั้งเดิมมีสีโทนแดงเป็นพื้น
       7. มีเชิงแพรกรณีเป็นสไบหรือแพร เพื่อเพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น